“มะรุม” ผักดีมีประโยชน์สูง

มะรุม เป็นไม้ผลัดใบที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตร้อนรวมถึงประเทศไทย ด้วยคุณค่าทางโภชนาการจึงมีการนำส่วนใบ ดอก และฝักอ่อนของมะรุมไปประกอบอาหารหรือรับประทานแบบสดก็ได้ สำหรับส่วนอื่น ๆ เช่น ราก เปลือก น้ำยาง ได้มีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้

ใบมะรุมเป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่นานาชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งใบมะรุม 21 กรัม จะอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • โปรตีน 2 กรัม

  • วิตามินบี 6 19 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน

  • วิตามินซี 12 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน

  • วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 11 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน

  • ธาตุเหล็ก 11 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน

  • วิตามินเอ จากเบต้าแคโรทีน 9 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน

  • แมกนีเซียม 8 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน

ฝักของมะรุมถึงแม้จะมีวิตามินน้อยกว่าใบมะรุม แต่ฝักมะรุมสด 100 กรัม ประกอบไปด้วยวิตามินซีสูงถึง 157 เปอร์เซ็นต์ของวิตามินซีที่ควรได้รับในหนึ่งวัน และมะรุมยังมีคุณสมบัติต้านอนุมุลอิสระที่อาจช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเซลล์ในร่างกาย โดยมีคำกล่าวอ้างว่าส่วนต่าง ๆ ของมะรุมมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น รักษาอาการอักเสบ รักษาโรคลมชัก ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังมีการนำมะรุมมาใช้เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและลดระดับไขมันในเลือด หรือนำมาใช้เป็นยาทาในการฆ่าเชื้อโรค รักษาอาการติดเชื้อทางผิวหนัง น้ำกัดเท้า รังแค โรคเหงือก รวมทั้งบาดแผลตามร่างกาย

 

ประโยชน์ดีๆ จาก “มะรุม”

  1. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สดใส

  2. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย

  3. ลดไขมัน และคอเลสเตอรอล

  4. รักษาโรคโลหิตจาง

  5. บำรุงหัวใจ

  6. ลดน้ำตาล เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  7. ช่วยลดไข้ แก้หวัด

  8. บรรเทาอาการไอ

 

มะรุม มีอันตรายหรือไม่?

จากการทดลองกับหนูทดลองในห้องแล็บ พบว่า หนูทดลองที่ผสมพันธ์แล้ว และถูกป้อนด้วยสารสกัดจากเมล็ดมะรุม มีความเป็นไปได้ที่ทำให้หนูมีอาการแท้ง ส่วนของรากมะรุม ทำให้ตัวอ่อนในครรภ์ฝ่อ และมะรุมดิบทำให้การเจริญเติบโตของหนูลดลง

ดังนั้นมะรุม โดยเฉพาะมะรุมดิบ อาจมีอันตรายต่อหญิงมีครรภ์