อบเชย ประโยชน์มากมายที่ไม่เชยเหมือนชื่อ

อบเชย เป็นเครื่องเทศที่เชื่อว่าอาจมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยสมานแผล ป้องกันอาการท้องร่วง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ หรือลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากเปลือกของอบเชยประกอบไปด้วยสารแทนนิน (Tannins) สารอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อบเชยมีรสชาติหวานและมีกลิ่นฉุน นิยมใช้อย่างแพร่หลายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปลือกของอบเชยมักถูกนำมาบดเป็นผงประกอบอาหาร หรือใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สบู่ เครื่องสำอาง และยารักษาโรคของแพทย์แผนจีนโบราณ

 

ประโยชน์ของอบเชย

  • แก้อาการวิงเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย

หากคุณรู้สึกวิงเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย เพียงนำเปลือกอบเชยมาต้มดื่มจะช่วยบรรเทาอาการวิงวิงศรีษะ แก้ท้องเสีย แก้ไอ ช่วยบำรุงสุขภาพ เมื่อดื่มบ่อยๆ จะช่วยย่อยสลายไขมันและควบคุมระดับไขมันในเลือดได้เป็นอย่างดี

  • ป้องกันความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน

เพียงทานอบเชยเป็นประจำ ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีปะสิทธิภาพ โดยทำหน้าที่กระตุ้นโปรตีนที่ช่วยป้องกันเซลล์สมองไม่ให้เสื่อมสภาพไว ช่วยกระตุ้นประสาทและลดความเครียดลงได้เป็นอย่างดี

  • ลดระดับน้ำตาลในเลือด

อบเชยมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะมากสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หากคุณได้กินอาหารที่มีรสหวานหรือน้ำตาลสูงเข้าไป อบเชยจะช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดลง และยังมีคุณสมบัติพิเศษป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อนอีกด้วย

  • กำจัดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก

จากผลการวิจัยพบว่าอบเชยนั้นมีคุณสมบัติช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำลายได้อีกด้วย เพียงต้มน้ำประมาณ 1 แก้ว และใส่ผงอบเชยประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นนำมากรองเอาเฉพาะน้ำ รอจนหายร้อนจึงนำมาบ้วนปา ช่วยทำให้ลมปากสดชื่น

 

รับประทานอบเชยอย่างไรให้ปลอดภัย

แม้ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลด้านปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานอบเชย แต่การรับประทานเปลือกอบเชยเป็นส่วนผสมอาหารหรือใช้เป็นยารักษาโรคตามคำแนะนำของแพทย์นั้นค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม การบริโภคอบเชยอาจไม่ปลอดภัย หากรับประทานปริมาณมากเกินไปหรือรับประทานน้ำมันอบเชย เพราะอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิว เยื่อเมือก กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ และทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม เป็นต้น

ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการรับประทานอบเชยเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของอบเชยนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหมั่นตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือด และสังเกตอาการในระหว่างรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของอบเชย เพราะอบเชยอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของอบเชยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอบเชยอาจกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด